ไม่ว่าคุณจะต้องการ ย้ายไปอาศัยที่ญี่ปุ่น เรียนต่อต่างประเทศ ไปเที่ยวพักผ่อน หรือวางแผนการเดินทางเพื่อธุรกิจ การรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่สำคัญบางอย่างล้วนช่วยให้คุณมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับทุกคนที่คุณพบเจอได้ดียิ่งขึ้น
ในคู่มือจาก Remitly ฉบับนี้ เราได้รวบรวมข้อมูลบางอย่างที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับมารยาทและบรรทัดฐานทางสังคมของประเทศญี่ปุ่นก่อนที่คุณจะเดินทางไปเยือนหรือย้ายไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น
การโค้งคำนับ: ศิลปะแห่งการทักทาย
แม้จะไม่มีใครแน่ใจว่าประเพณีนี้เริ่มต้นอย่างไร แต่การโค้งคำนับถือเป็นมารยาทสำคัญในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรู้จักกันในชื่อ โอจิกิ การโค้งคำนับเป็นวิธีการแสดงความเคารพ เรามาเจาะลึกประเพณีของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการโค้งคำนับกันสักหน่อย
เมื่อไหร่เราจะโค้งคำนับให้กัน?
ในประเทศญี่ปุ่น การโค้งคำนับอาจเป็นสัญลักษณ์ของการทักทายและจุดประสงค์อื่นๆ อีกมากมาย โอกาสที่เหมาะสมสำหรับการโค้งคำนับในวัฒนธรรมญี่ปุ่น คือ
- การกล่าวทักทายสวัสดี
- การกล่าวคำอำลา
- เริ่มการประชุม พิธีการ หรือเข้าชั้นเรียน
- การกล่าวขอบคุณหรือแสดงความขอบคุณ
- การขอโทษ
- การกล่าวแสดงความยินดี
- หลังจากขอความช่วยเหลือหรือบริการบางอย่างแล้ว
- เป็นสัญลักษณ์ของความเห็นอกเห็นใจ
- การแสดงความเคารพ
การโค้งคำนับมีกี่ประเภท?
การโค้งคำนับตามมารยาทของประเทศญี่ปุ่นมีสามประเภทหลัก ได้แก่
- เอชาคุ: การโค้งคำนับด้วยการยืนและโค้งลำตัวประมาณ 15 องศา
- เคเร: การโค้งคำนับด้วยการโค้งลำตัวประมาณ 30 องศา
- ไซเคเร: การโค้งคำนับด้วยการโค้งลำตัว 45 ถึง 70 องศา
เทคนิคการโค้งคำนับที่ถูกต้องและแสดงถึงความเคารพ
หากต้องการโค้งคำนับอย่างถูกต้องและแสดงถึงความเคารพอย่างจริงใจให้ปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
จัดท่าโค้งคำนับให้ดี
การยืนให้ยืนเต็มเท้าในลักษณะเท้าเรียบไปกับพื้น โดยให้นิ้วเท้าชี้ไปข้างหน้าตลอดขณะโค้งคำนับ กระดูกส่วนหลังตั้งตรงโดยให้โค้งตัวจากระดับเอว
มองลงต่ำ
สำหรับการโค้งคำนับแบบโบราณ สายตาหันไปตามใบหน้า ควรมองลงต่ำแทนการจ้องมองอีกฝ่าย
เก็บมือให้มิดชิด
ผู้ชายควรเก็บมือทั้งสองให้แนบข้างลำตัวขณะโค้งคำนับ สำหรับผู้หญิงควรวางมือทั้งสองข้างไว้บนหน้าท้อง โดยวางมือข้างหนึ่งทับบนมืออีกข้างหนึ่ง
คำนึงถึงโอกาสที่เหมาะสม
การโค้งคำนับทั้งสามแบบนั้นเหมาะสำหรับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือ คุณต้องเลือกการโค้งคำนับตามโอกาสที่เหมาะสม
เอชาคุ (eshaku) เป็นการโค้งคำนับแบบสบายๆ คุณอาจใช้เมื่อทักทายเพื่อน หรือแสดงไมตรีจิตต่อคนแปลกหน้าในร้านค้า
การคำนับในทางธุรกิจที่พบบ่อยที่สุดคือ เคเร (Keirei) โดยจะใช้เมื่อทักทายลูกค้าหรือก่อนเริ่มการประชุม
สำหรับการโค้งแบบ ไซเคเร (Saikeirei) เป็นการโค้งคำนับในรูปแบบเป็นทางการมากที่สุด จึงสงวนการโค้งแบบนี้ไว้สำหรับเวลาที่คุณต้องการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดเท่านั้น เช่น เมื่อคุณขอบคุณใครสักคน ขอโทษ หรือร้องขอใครสักคน
พิจารณาตามสถานะในสังคม
เมื่อต้องเลือกลักษณะการโค้งคำนับว่าจะต้องเลือกแบบไหนและอย่างไรนั้น สถานะทางสังคมของอีกฝ่ายก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา ลำดับชั้นทางสังคมยังคงมีความสำคัญในวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยทั่วไปแล้วบุคคลที่มีสถานะต่ำกว่าจะต้องโค้งคำนับให้อีกฝ่าย
ตัวอย่างเช่น คุณอาจเลือกโค้งคำนับแบบเอชาคุเพื่อทักทายเพื่อนๆ ในห้องเรียน แต่จากนั้นก็ทำโค้งคำนับแบบเคเรให้อาจารย์ หากคุณได้พบกับอธิการบดีมหาวิทยาลัย คุณจะต้องทักทายด้วยการโค้งคำนับแบบไซเคเร เป็นต้น
ในทำนองเดียวกัน การโค้งคำนับแบบเอชาคุอาจเป็นที่ยอมรับใช้ทักทายเพื่อนร่วมงานในเช้าวันจันทร์ แต่เมื่อคุณทักทายเจ้านาย คุณจะต้องโค้งคำนับแบบเคเรโดยปริยาย หากคุณขึ้นลิฟต์พร้อมกับซีอีโอ คุณอาจเลือกการโค้งคำนับแบบไซเคเรเพื่อแสดงความเคารพ
แล้วการจับมือล่ะ ทำได้หรือไม่?
ในทางธุรกิจ คนญี่ปุ่นมักจะจับมือกันแทนการโค้งคำนับให้กับชาวตะวันตก ดังนั้น อาจจะมีการจับมือกันตั้งแต่เริ่มการประชุม
นักธุรกิจอาจโค้งคำนับหลังการจับมือหรือเลือกเพียงการจับมือเท่านั้น โดยให้สังเกตจากผู้นำการประชุมว่าเขาปฏิบัติอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อสร้างความประทับใจที่ดีระหว่างกัน
มารยาทในการรับประทานอาหาร: ลิ้มลองอาหารญี่ปุ่นรสอร่อย
หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดในการมาเยือนญี่ปุ่นคือ การเพลิดเพลินกับอาหารประจำภูมิภาคแสนอร่อย ในขณะที่ลิ้มลองอาหารจานใหม่ๆ เช่น ซูชิและยากิโทริ ควรระมัดระวังในเรื่องมารยาทและวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นดังต่อไปนี้
การถอดรองเท้าของคุณ
เมื่อคุณเข้าไปในร้านอาหารญี่ปุ่น ให้มองหาเสื่อทาทามิใกล้ประตู หากคุณเห็นนั่นเป็นสัญญาณว่าคุณควรถอดรองเท้าก่อนเข้าไปในร้าน
หากคุณได้รับเชิญให้ไปกินข้าวที่บ้านใครสักคน ให้ถอดรองเท้าไว้ข้างประตูเสมอเพื่อปฏิบัติตามมารยาทที่ดีของชาวญี่ปุ่น
ท่านั่ง
ในเมืองใหญ่ๆ คุณจะพบร้านอาหารที่มีโต๊ะและเก้าอี้ให้นั่ง แต่ในบ้านและร้านอาหารต่างๆ คุณอาจต้องนั่งบนพื้น
ท่านั่งรับประทานอาหารอย่างเป็นทางการแบบดั้งเดิมเรียกว่า เซซา ซึ่งวิธีนั่งในท่าคือ ให้คุกเข่าลงแล้วนั่งบนขาของตัวเอง จากนั้นให้ไขว้เท้าไว้ข้างหลัง ในบรรยากาศสบายๆ ผู้ชายสามารถนั่งขัดสมาธิบนพื้นได้ แต่ท่าขัดสมาธิจะไม่เหมาะสำหรับผู้หญิง
การใช้ตะเกียบ
หากคุณกำลังจะย้ายไปอยู่ยังประเทศญี่ปุ่น หรือกำลังวางแผนการเดินทางไปญี่ปุ่น ขอให้ฝึกการใช้ตะเกียบก่อนไปเพื่อที่คุณจะได้พร้อมรับประทานอาหารทุกอย่างตั้งแต่ซูชิ บะหมี่ ไปจนถึงข้าวได้สะดวกยิ่งขึ้น
ในขณะที่คุณรับประทานอาหาร ให้หลีกเลี่ยงการชี้ไปที่คนหรือสิ่งของด้วยตะเกียบ หากมีคนขอให้คุณส่งอะไรบางอย่างให้ คุณควรยื่นจานอาหารแทนการใช้ตะเกียบหยิบอาหารขึ้นมา
เมื่อคุณต้องการวางตะเกียบลง ให้วางตะเกียบขนานกันไว้บนจานอาหาร
การแสดงความขอบคุณ
หลังจากรับประทานอาหารเสร็จให้พูดว่า “โกจิโซซามะ” เพื่อแสดงความขอบคุณต่อมื้ออาหาร คำนี้แปลว่า “งานฉลอง” และเป็นการแสดงความเคารพต่อกัน
มารยาทบนโต๊ะอาหารต่างๆ
หากคุณได้รับผ้าขนหนูอุ่นๆ ทั้งก่อนหรือหลังมื้ออาหาร ให้ใช้เพียงเช็ดมือเท่านั้น คุณไม่ควรนำไปสัมผัสหรือเช็ดบนใบหน้า
การซดน้ำซุปเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีญี่ปุ่นต่างจากในโลกตะวันตก มันแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังเพลิดเพลินกับน้ำซุปและอยากกินมากขึ้น
หากคุณต้องการเติมซีอิ๊วลงในอาหาร ให้เทน้ำซอสลงในชามเล็กๆ บนโต๊ะแล้วค่อยจุ่ม อย่าเทน้ำซีอิ๊วลงบนอาหารโดยตรง
การจ่ายค่าอาหาร
หากคุณอยู่ที่ร้านอาหาร ให้วางเงินสดหรือบัตรเครดิตของคุณบนถาดที่พนักงานเสิร์ฟเตรียมไว้ให้เท่านั้น ไม่ควรวางสิ่งอื่นใดบนถาด จากนั้นให้ส่งถาดคืนกลับไปด้วยมือทั้งสองข้าง
การให้ทิปนั้นเป็นเรื่องที่พบได้ยากในญี่ปุ่น หลายๆ คนมองว่ามันเป็นเรื่องหยาบคาย ดังนั้นอย่าวางเงินไว้บนถาดเสิร์ฟอาหารหลังทานอาหารเสร็จ
มารยาททางธุรกิจ: การสร้างความประทับใจ
การสร้างความประทับใจในที่ทำงานสามารถส่งผลเชิงบวกต่ออาชีพการทำงานของคุณได้ ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับเกี่ยวกับมารยาทญี่ปุ่นในด้านการทำงานและธุรกิจที่ควรปฏิบัติอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน และลูกค้า
การพกนามบัตร
การแลกเปลี่ยนนามบัตรถือเป็นแนวปฏิบัติที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่งเมื่อต้องพบปะผู้อื่นเป็นครั้งแรก หลังจากที่คุณโค้งคำนับหรือจับมือกันแล้ว ควรให้นามบัตรของคุณแก่อีกฝ่ายโดยยื่นให้อีกฝ่ายด้วยมือทั้งสองข้าง เมื่ออีกฝ่ายยื่นนามบัตรมาให้คุณ ให้รับนามบัตรด้วยมือทั้งสองข้างเช่นกัน
การใช้นามสกุล
เมื่อคุณพบกับคนญี่ปุ่น พวกเขาจะเรียกนามสกุลก่อนเสมอ แล้วจึงตามด้วยชื่อจริง หากคุณพูดกับคนญี่ปุ่น หรือพูดถึงพวกเขากับคนอื่น ให้เรียกด้วยนามสกุล นอกจากนั้นควรพูดคำว่า -ซัง ต่อท้ายในการเรียกชื่อเพื่อแสดงความเคารพทุกครั้ง
เช่น หากคุณพบคนที่ชื่อเทรุโอะ โอคุระ ให้เรียกพวกเขาว่า เทรุโอะซัง เป็นต้น
รักษามารยาทและสุภาพอยู่เสมอ
เมื่อสนทนากับใครสักคนให้พูดด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา หลีกเลี่ยงการแสดงออกและใช้ท่าทางด้วยมือมากเกินไป ให้เก็บมือไว้บนโต๊ะหรือบนตักเสมอ
อ่านเรื่องการสื่อสารในบทถัดไปเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการพูดคุยอย่างมีมารยาทในประเทศญี่ปุ่น
ตรงต่อเวลา
การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญในขนบธรรมเนียมและประเพณีญี่ปุ่น เนื่องจากการมาสายอาจถูกตีความว่าเป็นสัญญาณของการแสดงความไม่เคารพ ดังนั้นควรวางแผนที่จะมาถึงที่ประชุมและที่ทำงานก่อนเวลา
การสื่อสาร: การพูดและการฟัง
ศิลปะแห่งการสนทนาในญี่ปุ่นมีกฎเกณฑ์ของตัวเอง เมื่อพูดคุยกับใครสักคน ให้คำนึงถึงประเพณีของญี่ปุ่น ดังนี้
ให้เกียรติในการเรียกชื่อ
การให้เกียรติด้วยการใช้คำต่อท้ายในการเรียกชื่อบุคคลเพื่อแสดงความเคารพทุกครั้ง โดยควรให้เกียรติตามสถานะทางสังคมของบุคคล ดังนี้
- ซัง: เทียบเท่ากับนายหรือนาง เหมาะสำหรับผู้ที่มีสถานะเท่าเทียมกันกับคุณ
- ซามะ: เทียบเท่ากับเซอร์หรือมาดาม เหมาะสำหรับผู้ที่มีสถานะสูงกว่า เช่น ลูกค้า หรือหัวหน้างาน
- จัง: การให้เกียรติในความเป็นเด็ก
- ตัง: การให้เกียรติในความเป็นเด็กทารก
- เซ็มไป: การให้เกียรติบุคคลที่มีสถานะอาวุโส เช่น นักเรียนที่มีอายุมากกว่าหรือเพื่อนร่วมงานอาวุโสที่ไม่ใช่หัวหน้างานของคุณ
- เซ็นเซ: ให้เกียรติครูและอาจารย์
- ฮากาเซะ: ให้เกียรติแพทย์และผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา
ตามมารยาทของญี่ปุ่น การสบตาเป็นเวลานานถือเป็นการหยาบคาย
พยายามอย่าสบตาเวลาพูดคุยกับคนที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่า การสบตาโดยตรงช่วงสั้นๆ ตามด้วยการพักช่วงสั้นๆ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในระหว่างการสนทนาแบบสบายๆ
ในขณะที่หลีกเลี่ยงการสบตาเป็นเวลานาน อย่าจ้องมองสิ่งอื่นอย่างว่างเปล่า ในระหว่างการสนทนากับคนญี่ปุ่น ดวงตาของคุณควรมองไปรอบๆ โดยหยุดที่ผู้พูดเป็นครั้งคราวและควรมองไปบริเวณรอบๆ ห้องขณะสนทนา
ลักษณะท่าทางและลักษณะการพูด
ระหว่างการสนทนาให้ใช้ภาษามือให้น้อยที่สุด หากคุณต้องการระบุถึงบางสิ่งหรือบางคน ให้ใช้ทั้งมือแสดงท่าทาง อย่าใช้มือชี้เด็ดขาด เพราะนั่นถือเป็นเรื่องหยาบคายในวัฒนธรรมญี่ปุ่น
อย่าแตะต้องตัวผู้อื่นเมื่อคุณพูดคุยกับพวกเขา เว้นแต่จะเป็นสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิด แม้แต่ท่าทางเช่นการวางมือบนไหล่ของใครบางคนเพื่อเรียกความสนใจก็อาจดูหยาบคายได้
โดยทั่วไปแล้วคนญี่ปุ่นจะพูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลเมื่อสนทนาด้วย ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงระดับเสียงของการสนทนาและให้ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
การแสดงออกทางสีหน้า
การใช้สีหน้าที่เหมาะสมในการสนทนาถือเป็นสิ่งสำคัญในญี่ปุ่น
แม้ว่าการยิ้มจะถือเป็นบรรทัดฐานระหว่างการสนทนาในประเทศตะวันตก แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณของความอับอายในญี่ปุ่นได้ ดังนั้น ควรพยายามแสดงสีหน้าเป็นกลางด้วยการยิ้มเล็กน้อยเมื่อพูดคุยกับใครสักคนจะดีกว่า
เสียงหัวเราะ
โดยทั่วไปแล้ว การเปล่งเสียงหัวเราะไม่เหมาะในช่วงการทำธุรกิจ แต่คุณสามารถหัวเราะได้ในบทสนทนาสบายๆ สำหรับผู้หญิงควรปิดปากเวลาหัวเราะขณะอยู่ในญี่ปุ่น แต่ผู้ชายมักจะไม่ปฏิบัติตามมารยาทแบบญี่ปุ่นนี้เสมอไป
การสื่อสารแบบย้อนกลับ
เมื่อคุณกำลังพูดคุยกับใครสักคน การสื่อสารแบบย้อนกลับเป็นอีกวิธีหนึ่งในการทำให้อีกฝ่ายรู้ว่าคุณกำลังรับฟังและมีส่วนร่วมในการสนทนานั้น ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการเป็นคู่สนทนาที่ดีในญี่ปุ่น
หากคุณกำลังสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ คุณสามารถโต้ตอบด้วยการพูดว่า “โอเค” “ใช่” “อืม” “ฉันเข้าใจแล้ว” และ “เอ่อ-หือ”
ในญี่ปุ่น การสื่อสารแบบย้อนกลับเรียกว่า ไอซุชิ ต่อไปนี้เป็นวลีบางส่วนที่คุณสามารถนำไปใช้เมื่อพูดภาษาญี่ปุ่น:
- ฮอนโตวนิ?: จริงเหรอ?
- แอ๋!: เสียงอัศเจรีย์เหมือนตกใจ หรือโอ้โห
- นารุโฮโดะ: เข้าใจแล้ว
- ทาชิกะ นิ: ใช่แล้ว หรือแน่นอน
- ไฮเดซึเนะ: เยี่ยมเลย
ข้อห้าม
เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความอับอาย หรือการทะเลาะขัดแย้ง ให้หลีกเลี่ยงหัวข้อต้องห้ามเมื่อต้องพูดคุยกับคนญี่ปุ่น ดังนี้
- รายได้ หรือเงินที่หามาได้
- เรียนอะไรในมหาวิทยาลัยหรือ กำลังจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหรือเปล่า
- การเมือง
- ราชวงศ์ญี่ปุ่น
- ศาสนา
การให้ของขวัญ: การแลกเปลี่ยนของขวัญตามมารยาท
การให้ของขวัญเป็นส่วนสำคัญของประเพณีญี่ปุ่น หากเข้าใจว่าควรให้ของขวัญเมื่อใดและอย่างไรสามารถช่วยให้คุณแสดงความขอบคุณและมั่นใจได้ว่าคุณพร้อมที่จะรับของขวัญอย่างมีมารยาทเช่นกัน
การให้ของขวัญในญี่ปุ่นควรให้เมื่อไหร่
ธรรมเนียมการให้ของขวัญในญี่ปุ่นดูจากโอกาสและเวลาที่เหมาะสมดังต่อไปนี้
- เมื่อคุณกลับจากการเดินทาง: หากคุณไปพักผ่อนในขณะที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น คุณจะต้องกลับมาพร้อมกับของที่ระลึก หรือโอมิยาเกะให้กับครอบครัว เพื่อน และแม้แต่เพื่อนร่วมงาน
- เมื่อคุณไปเยี่ยมใครสักคน: หากคุณได้รับเชิญไปที่บ้านของใครสักคน ให้นำของขวัญไปมอบให้เจ้าบ้านหรือเจ้าของงาน เรียกว่าเทมิอาเกะ
- เมื่อมีคนช่วยเหลือคุณ: ถ้ามีคนทำอะไรพิเศษให้คุณ คุณสามารถมอบของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ที่เรียกว่าโอคาเอชิให้พวกเขาได้
- ในฤดูร้อน: ในช่วงฤดูร้อน เพื่อน ครอบครัว และเพื่อนร่วมงานจะแลกเปลี่ยนของขวัญกันเล็กๆ น้อยๆ ที่เรียกว่า โอชูเก็น
- ในเดือนธันวาคม: คนญี่ปุ่นมักมอบของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ที่เรียกว่าโอเซโบให้กับเพื่อน ครอบครัว และเพื่อนร่วมงานในช่วงเดือนธันวาคม
- วันเกิด: การให้ของขวัญวันเกิดไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม แต่กลายเป็นเรื่องปกติในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
- คริสต์มาส: เช่นเดียวกับของขวัญวันเกิด ของขวัญคริสต์มาสได้รับความนิยมในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีการแลกเปลี่ยนของขวัญกัน
- งานแต่งงาน: ของขวัญที่เป็นเงินใส่ซอง เรียกว่าโกชูกิ ถือเป็นธรรมเนียมที่จะนำมาในงานแต่งงาน
ควรเลือกของขวัญที่เหมาะสมเป็นอะไรบ้าง
ของขวัญที่มอบให้ที่ถือว่ามีความเหมาะสม และเป็นการมอบให้ตามบรรทัดฐานทางสังคมของญี่ปุ่นนั้นขึ้นอยู่กับโอกาส ดังต่อไปนี้
- โอมิยาเกะ: โดยทั่วไปแล้วจะเป็นของฝากชิ้นเล็กราคาไม่แพงซึ่งจะระบุชื่อสถานที่ที่คุณไปเที่ยวมา
- เทมิยาเกะ: ของกิน เช่น ช็อคโกแลต ลูกอม และไวน์
- โอคาเอชิ: แอลกอฮอล์ ของใช้ในครัวเรือน และขนมหวาน
- โอชูเก็น: อาหารและเครื่องดื่มที่น่ารับประทานในฤดูร้อน
- โอเซโบ: อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และของใช้ในครัวเรือนซึ่งมักจะมีราคาไม่เกิน 5,000 เยน
เมื่อต้องการให้ของขวัญเป็นเงินในญี่ปุ่น ให้หลีกเลี่ยงผลรวมที่มีเลข 2 หรือหารด้วย 2 ลงตัว เนื่องจากตัวเลขนี้ถือเป็นโชคร้าย ตัวอย่างเช่น การให้ซองเงินสำหรับงานแต่งงานควรให้เงิน 30,000 หรือ 50,000 เยน แต่ไม่ควรให้ที่จำนวน 20,000 หรือ 40,000 เยน
การห่อของขวัญและรูปแบการให้ของขวัญ
ในญี่ปุ่น ลักษณะการห่อของขวัญและความสวยงามของของขวัญมีความสำคัญพอๆ กับสิ่งที่อยู่ข้างใน ซึ่งก็เพื่อสร้างความประทับใจที่ดีให้กับผู้รับ โดยควรห่อของขวัญด้วยฟุโรชิกิ หรือการห่อผ้าเพื่อตกแต่ง สำหรับเงินของขวัญควรใส่ในซองของขวัญที่สวยงาม
เมื่อคุณมอบของขวัญให้ใครสักคน ควรส่งให้ด้วยมือทั้งสองข้างทุกครั้ง
การรับของขวัญ
ถ้ามีคนมอบของขวัญให้คุณ ควรรับของขวัญด้วยมือทั้งสองข้าง จากนั้นให้โค้งคำนับเพื่อแสดงความขอบคุณ
โดยทั่วไปแล้ว คนญี่ปุ่นจะรอจนกว่ากลับที่พักจึงจะเปิดของขวัญ ดังนั้น จึงไม่ควรเปิดของขวัญในทันที โดยให้วางไว้ก่อนแล้วจึงเปิดดูในภายหลัง ยกเว้นในงานแต่งงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติหากต้องเปิดซองในทันที
การแต่งกาย: การเลือกชุดแต่งกายในโอกาสต่างๆ ทางสังคม
รูปลักษณ์ภายนอกช่วยสร้างความประทับใจให้ผู้คนได้แทบทุกที่ในโลก และในญี่ปุ่นก็มีธรรมเนียมและบรรทัดฐานเกี่ยวกับการแต่งกายในโอกาสต่างๆ เรามาเจาะลึกเรื่องการแต่งกายที่เหมาะสมสำหรับการเข้าสังคมในญี่ปุ่นในโอกาสที่แตกต่างกัน
ชุดแต่งกายสำหรับธุรกิจ
ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ชุดสูทถือเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับนักธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เป็นที่ยอมรับ ผู้หญิงสามารถสวมกระโปรงหรือกางเกงขายาวได้ แต่เป็นชุดที่เข้ากันได้
การเลือกสีเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกเครื่องแต่งกายสำหรับนักธุรกิจ โดยทั่วไป สีที่ยอมรับคือ สีกลางเข้ม เช่น สีดำ สีเทา หรือสีกรมท่า เนคไทของผู้ชายควรจำกัดไว้แค่สีเหล่านี้เท่านั้น
สถานที่ทำงานของญี่ปุ่นบางแห่งมีการแต่งกายชุดลำลองเพื่อธุรกิจสำหรับทุกวันหรือในบางวันของสัปดาห์
ชุดลำลองสำหรับนักธุรกิจชายมักประกอบด้วยเสื้อกีฬาหรือชุดสูทลำลองไม่ผูกไทและกางเกงขายาว สำหรับผู้หญิง เสื้อเชิ้ตที่สวมคาร์ดิแกนหรือเบรเซอร์สวมทับกระโปรงหรือกางเกงขายาว โดยมีความยาวถึงเข่าถือเป็นเรื่องปกติ
ชุดงานศพ
หากต้องไปร่วมงานศพในญี่ปุ่น การแต่งกายที่เหมาะสมจะแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตและบุคคลอันเป็นที่รัก
สำหรับผู้ชาย เครื่องแต่งกายที่เหมาะสมคือ ชุดสูทสีดำ เนคไทสีดำ รองเท้าสีดำ และเข็มขัดสีดำพร้อมหัวเข็มขัดด้าน
ผู้หญิงควรสวมชุดเดรสสีดำหรือกระโปรงยาวถึงเข่าสีดำ ผู้หญิงควรสวมเสื้อที่มิดชิดหรือ คลุมไหล่ให้มิดชิดและมีคอเสื้อพอประมาณ
นอกจากแหวนแต่งงานแล้ว ไม่ควรสวมเครื่องประดับอื่นใดในงานศพ
ชุดแต่งกายพื้นเมือง
กิโมโนเป็นเครื่องแต่งกายแบบพื้นเมืองที่พบได้บ่อยที่สุดทั้งชายและหญิงในญี่ปุ่น คุณอาจต้องใส่ชุดกิโมโนหากได้รับเชิญไปร่วมงานพิธีชงชาหรืองานแต่งงานแบบชินโตโบราณ
นอกเหนือจากชุดกิโมโน อาจเลือกสวมใส่ชุดยูกาตะ ซึ่งถือเป็นเสื้อผ้าฤดูร้อนและโดยทั่วไปของญี่ปุ่นยุคใหม่จะสวมใส่เฉพาะในช่วงเทศกาลเท่านั้น
การแต่งหน้า
สำหรับผู้หญิง โดยทั่วไปแล้วการแต่งหน้าเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายประจำวันในญี่ปุ่น หลายๆ คนมองว่าการไม่แต่งหน้าถือเป็นเรื่องหยาบคายและไม่ถูกสุขลักษณะ
ผู้หญิงญี่ปุ่นมักจะไม่ทาเล็บหรือทาเล็บปลอม แต่บางครั้งยังมีนักเรียนทาเล็บอยู่บ้าง
ฝึกฝนและปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมตามบรรทัดฐานของประเทศญี่ปุ่น
วัฒนธรรมญี่ปุ่นมีประวัติย้อนกลับไปถึง 12,000 ปีก่อนคริสตศักราช และตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใคร ด้วยเหตุนี้ ประเพณีและมารยาทของญี่ปุ่นจึงค่อนข้างสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ในขณะที่คุณเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นหรือต้องปรับตัวให้เข้ากับชีวิตที่นั่นหลังจากย้ายไปต่างประเทศ การปฏิบัติตามวัฒนธรรมดั้งเดิมและยังคงรักษาวัฒนธรรมทั้งหมดไว้สามารถช่วยปูทางไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคุณจะเตรียมตัวมาอย่างดีและใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ก็อาจมีบางครั้งที่คุณเผลอก้าวออกนอกกรอบบรรทัดฐานทางสังคมของญี่ปุ่น หากคุณทำผิดพลาดก็อย่าเพิ่งตกใจ เพียงขอโทษอย่างจริงใจและอธิบายว่าคุณยังคงเรียนรู้เกี่ยวกับมารยาทของญี่ปุ่นอยู่
วัฒนธรรมการต้อนรับ หรือ โอโมเทนาชิมีความสำคัญในญี่ปุ่นมาก ดังนั้นคุณจะพบว่าคนส่วนใหญ่จะให้อภัยและเข้าใจ โดยมองความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีของญี่ปุ่นแล้วก้าวไปข้างหน้า
การเปิดใจให้กว้างและพยายามปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมและบรรทัดฐานของญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ จะทำให้คุณได้รับประสบการณ์เชิงบวกในต่างแดน อีกทั้งเป็นการเปิดประตูสู่มิตรภาพใหม่ๆ และสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจได้ดี
หาข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีญี่ปุ่นเพื่อเริ่มต้นวางแผนการเดินทางหรือย้ายไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น